ตำราทางยกทัพ สำรวจคราวเตรียมรบพม่า ในรัชกาลที่ 2
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
99 Coin5 Coinคำอธิบายตำราทางยกทัพ
ตำราทางยกทัพที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ มีเนื้อความปรากฎในต้นฉบับ ประกอบกับหนังสือพระราชพงศาวดารว่า รวบรวมในรัชกาลที่ ๒ คราวเตรียมจะรบกับพม่าเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓
เรื่องมุลเหตุที่เกิดเตรียมการสงครามคราวนี้ในหนังสือพงศาวดารทั้ง ๒ ฝ่ายยุติต้องกันว่า เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๖๒
พระเจ้าปะดุง ซึ่งได้ทำสงครามขับเคี่ยวมากับไทยในรัชกาลที่ ๑ นั้น สิ้นพระชนม์ จักกายแมงราชนัดดาได้รับรัชทายาท แลเมื่อพระเจ้าจักกายแมงขึ้นครองราชสมบัติ ไพร่บ้านพลเมืองไม่เปนปรกติ พระเจ้าจักกายแมงเกรงจะเกิดขบถขึ้นในแผ่นดินพม่า พอถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ได้ข่าวออกไปถึงเมืองอังวะว่า ที่ในเมืองไทยเกิดไข้อหิวาตะกะโรค ผู้คนล้มตายระส่ำระสายมาก พระเจ้าจักกายแมงเห็นเปนโอกาศจึงคิดจะยกกองทัพมาตีเมืองไทย ให้ราษฎรเห็นว่าเข้มแขงในการศึกสงครามเหมือนเช่นพระเจ้าปะดุงผู้เปนไอยกา แลครั้งนั้นประจวบเวลาเจ้าพระยาไทรปะแงรันเกิดวิวาทกับตนกูสนูน้องชาย ซึ่งเปนที่พระยาอภัยนุราชเจ้าเมืองสตูล เจ้าพระยานคร (น้อย) เข้ากับพระยาอภัยนุราช เจ้าพระยาไทรปะแงรันจึงเอาใจออกหากไปเข้ากับพม่า รับว่าถ้าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองไทยเมื่อใด เจ้าพระยาไทร ฯ จะยกกองทัพตีขึ้นมาทางเมืองนครอิกทาง ๑ พระเจ้าจักกายแมงเห็นได้ที จึงให้เกณฑ์คนในหัวเมืองพม่า ตลอดจนเมืองแปรแลหัวเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ ให้หวุ่นคยีมหาเสนาบดีเปนแม่ทัพใหญ่ หวุ่นคยีนรทาเปนปลัดทัพ มาตั้งประชุมพลแลรวบรวมเสบียงอาหารที่เมืองเมาะตมะ อย่างเคยเตรียมทัพที่ยกมาตีเมืองไทยครั้งก่อน ๆ
ในขณะนั้น กองมอญอาทมาตข้างฝ่ายไทยออกไปตระเวนด่านตามเคย พวกกองอาทมาตเข้าไปถึงเมืองเร้ ซึ่งเปนหัวเมืองมอญ อยู่ข้างเหนือเมืองทวาย พบพม่าที่ถือท้องตราลงมาเกณฑ์คนเข้ากองทัพ จึงจับตัวแลได้ท้องตราพม่าเข้ามาส่งยังกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือน ๑๑ ปีมะโรงโทศกนั้น พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย จึงโปรด ฯ ให้เกณฑ์กองทัพ ๕ ทัพ แต่จำนวนพลเท่าใดหาปรากฎไม่ กองทัพที่ ๑ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คือพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนแม่ทัพยกไปตั้งอยู่ตำบลปากแพรกที่ตั้งเมืองกาญจนบุรีบัดนี้ คอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ ๑ กองทัพที่ ๒ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ คือกรมพระราชวังบวร ฯ ในรัชกาลที่ ๓ ยกไปตั้งอยู่ที่เมืองเพ็ชรบุรี คอยต่อสู้กองทัพพม่า ที่จะยกเข้ามาทางด่านสิงขรทัพ ๑ กองทัพที่ ๓ เปน กองทัพน้อย ให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์เปนแม่ทัพ ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี คอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกมาจากเมืองทวายทัพ ๑ กองทัพที่ ๔ เห็นจะเปนกองทัพน้อย ให้พระยากลาโหมราชเสนาไปตั้งรักษาเมืองกลางทัพ ๑ กองทัพที่ ๕ เตรียมไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) เวลานั้นยังเปนแต่พระยานคร ฯ เปนแม่ทัพ พระยาวิชิตณรงค์เปนปลัดทัพ พระพงศ์นรินทร์เปนยกรบัตรทัพ คอยต่อสู้ข้าศึกที่จะยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ทัพ ๑ เข้าใจว่ายังมีกองทัพที่ ๖ อิกทัพหนึ่ง ซึ่งมิได้ปรากฎในจดหมายเหตุ มีแต่เค้าเงื่อนในระยะทางยกทัพฝ่ายเหนือที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ดูเหมือนเจ้านายจะเปนแม่ทัพ สันนิษฐานว่าเห็นจะเปน เจ้าสามกรมซึ่งเปนโอรสกรมพระราชวังหลัง คือกรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่งฤาทั้ง ๓ พระองค์ด้วยกัน ขึ้นไปตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านแคแขวงเมืองตาก จึงเรียกในระยะทางที่สำรวจว่าตำหนักบ้านแค กองทัพนี้คอยต่อสู้พม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แลช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่เผื่อพม่าจะยกมาตีทางนั้นด้วย มีชื่อตำหนักมั่นอยู่ในระยะทางที่สำรวจอิกแห่งหนึ่ง อยู่ในชานเมืองเชียงใหม่ทีเดียว บางที่จะโปรดให้เจ้านายใน ๓ พระองค์นั้นขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่พระองค์ ๑ ก็จะเปนได้
ในคราวเตรียมรบพม่าซึ่งกล่าวมานี้ ที่สำรวจระยะทางสำหรับยกกองทัพและส่งเสบียงอาหารถึงกัน ดังปรากฎอยู่ในสมุดเล่มนี้ แต่การที่เตรียมรบพม่าครั้งนั้นหาได้รบกันไม่ ได้ความปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า แม่ทัพพม่าให้คนเข้ามาสอดแนม ได้ความว่ามีกองทัพไทยออกไปตั้งสกัดอยู่ เห็นว่าไทยรู้ตัวก็ไม่อาจยกเข้ามาเมื่อปีมะโรง เปนแต่ทั้งคุมเชิงกันอยู่ จนเข้ารดูฝนปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๖๔ พ้นระดูที่จะเดินทัพแล้ว พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย จึงโปรดให้กองทัพกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับกองทัพกรมหมื่นศักดิพลเสพกลับคืนเข้ามากรุงเทพ ฯ ให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ คุมกองทัพตั้งรักษาอยู่ที่เมืองราชบุรีแห่งเดียว ครั้นกองทัพพระยากลาโหมราชเสนากลับเข้ามาจากเมืองถลาง โปรดให้พระยากลาโหมราชเสนา หนุนไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีอิกทัพ ๑ จนถึงระดูแล้ง ปลายปีมะเสง ทางเมืองพม่าพวกเมืองมณีบุระกำเริบขึ้นทางชายแดนข้างฝ่ายเหนือ พระเจ้าอังวะต้องถอนกองทัพที่เตรียมไว้ข้างใต้ขึ้นไปรบกับพวกเมืองมณีบุระ ฝ่ายกรุงเทพ ฯ สืบได้ความว่าพม่าเลิกทัพไปหมดแล้ว ก็เลิกการที่ได้ตระเตรียม เรื่องราวมีปรากฏดังได้แสดงมานี้.
ข้อควรรู้ เกี่ยวกับคำว่า "เส้น" (ผู้เรียบเรียง)
ในตำราเล่มนี้ ๑ เส้นยาวเท่ากับกี่กิโลเมตรกันแน่
ขออธิบายว่า
๑ เส้น = ๔๐ เมตร
๑๐๐ เส้น = ๔,๐๐๐ เมตร หรือ ๔ กิโลเมตร
หรือ ๑ เส้น = ๐.๐๔ กิโลเมตร
๑ เส้น เท่ากับ ๐.๐๔ กิโลเมตร
สูตรการแปลงเป็นกิโลเมตร
กิโลเมตร = เส้น × ๐.๐๔